การรักษาอาการ เอ็นร้อยหวายฉีกขาด จากการเล่นกีฬา

การรักษาอาการ เอ็นร้อยหวายฉีกขาด จากการเล่นกีฬา

รู้จักและเข้าใจ อาการเอ็นร้อยหวายฉีกขาด จากการเล่นกีฬา สาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และการทำกายภาพบำบัดหลังการรักษา

การเล่นกีฬาที่ต้องกระโดด หมุนตัว และวิ่งที่ทำให้เกิดการกระแทกหรือออกแรงที่ขาหรือเท้ามากๆ หากใส่รองเท้ากีฬาที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้ทำการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย หรือ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพเท้ากับอาการเอ็นร้อยหวายฉีกขาดเกิดขึ้นได้กับทุกคน

เอ็นร้อยหวายฉีกขาด Achilles tendon rupture

เอ็น คือ เนื้อเยื่อที่เชื่อมยึดระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก เอ็นร้อยหวายฉีกขาดเกิดขึ้นเมื่อเอ็นร้อยหวายที่ขาส่วนล่างเกิดการฉีกขาด อาจเพียงบางส่วนหรือขาดออกจากกันทั้งเส้นโดยสิ้นเชิง

ข้อมูลเกี่ยวกับเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

เอ็นร้อยหวายเป็นเส้นเอ็นที่มีความแข็งแรงมากและยืดหยุ่นได้ อยู่บริเวณด้านหลังของข้อเท้าซึ่งเชื่อมระหว่างกล้ามเนื้อน่อง (calf muscle) กับกระดูกส้นเท้า (calcaneum) การฉีดขาดของเอ็นร้อยหวายนั้นอาจจะเกิดการฉีกขาดบางส่วนของเส้นเอ็นหรือฉีกขาดจากกันทั้งเส้นก็ได้

การฉีกขาดของเอ็นร้อยหวายมักจะเกิดขึ้นกับนักกีฬาหรือบุคคลทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี ซึ่งไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างไรก็ตามการฉีกขาดของเอ็นร้อยหวายก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ส่วนใหญ่แล้วมักพบเอ็นร้อยหวายฉีกขาดของเท้าด้านซ้าย เนื่องจากหากคุณถนัดมือขวา ในขณะที่วิ่งคุณจะออกแรงผลักหรือดันที่เท้าข้างซ้ายมากกว่า และพบว่าการฉีกขาดของเอ็นร้อยหวายทั้งเส้นมักพบในเพศชาย

อาการของเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

เมื่อเอ็นร้อยหวายฉีกขาด คุณอาจจะได้ยินเสียงแตกดังป๊อบและรู้สึกเจ็บปวดมากทันทีทันใดบริเวณส้นเท้าหรือขาด้านหลัง ซึ่งคุณอาจจะรู้สึกเหมือนถูกเตะหรือถูกตีที่บริเวณขาด้านหลัง นอกจากนี้ยังอาจมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • เกิดการบวมบริเวณน่อง
  • ไม่สามารถลงน้ำหนักที่บริเวณข้อเท้าได้
  • ไม่สามารถยืนด้วยปลายเท้าหรือขึ้นบันไดได้
  • มีรอยช้ำเกิดขึ้น

สาเหตุของเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

มักพบเอ็นร้อยหวายฉีกขาดในขณะเล่นกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬาที่ต้องกระโดด หมุนตัว และวิ่งที่ทำให้เกิดการกระแทกหรือออกแรงที่ขาหรือเท้ามากๆ เช่น การเล่นฟุตบอลหรือเทนนิส

เอ็นร้อยหวายจะมีความยืดหยุ่นและสามารถทนต่อแรงกดดันในขณะวิ่งได้น้อยลงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเส้นใยภายในเอ็นจะค่อยๆ ฉีกขาดทีละน้อยและอาจจะขาดออกจากกันทั้งเส้นโดยสิ้นเชิงในที่สุด

การรักษาอาการเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

คุณสามารถรักษาเอ็นร้อยหวายฉีกขาดได้ทั้งด้วยการผ่าตัด หรือการใส่เฝือกเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของเท้า การเลือกวิธีการรักษาจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น อายุ สภาวะสุขภาพร่างกายและลักษณะกิจวัตรประจำวัน หากเอ็นร้อยหวายเกิดการฉีกขาดเพียงบางส่วน วิธีการรักษาด้วยการใส่เฝือกก็น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่ารักษาด้วยการผ่าตัด

ภายหลังการรักษา

หลังจากถอดเฝือกออกแล้ว คุณควรค่อยๆเพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับเส้นเอ็นที่ได้รับการรักษาแล้ว นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดอาจจะช่วยหาวิธีเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดจากอาการเอ็นฉีกขาดได้ เช่น 

การออกกำลังกายและการนวดคลายกล้ามเนื้อชั้นลึก (deep tissue massage) รวมถึงให้คำแนะนำการพักฟื้นเพื่อให้คุณสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆได้อีกครั้ง ซึ่งคุณอาจจะกลับมาทำงานเป็นปกติได้ภายใน 6 เดือน หรืออาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นขึ้นอยู่กับประเภทของงานกิจกรรมที่จะทำด้วย
ที่มา ข้อมูล/ภาพ : บูพา

รายละเอียดเพิ่มเติม